"ทำใจให้เป็นเกียร์ว่าง"

"ทำใจให้เป็นเกียร์ว่าง"

เวลาเราไปถอนฟันนี้ หมอฉีดยาชาให้ เวลาหมอถอนไม่รู้ว่าหมอเสร็จแล้ว แต่ถ้าไม่ฉีดยาชาแล้วลองให้หมอถอนดูสิ ใจจะดิ้น ไอ้ที่ดิ้นนี้ไม่ใช่ร่างกายดิ้นนะ ใจดิ้น เพราะใจมันไม่ชอบความเจ็บมันเข้าเกียร์ถอยหลังทันที พอเจอความเจ็บนี้มันจะเข้าเกียร์ถอยหลัง แต่ถ้าเรามาฝึกสมาธิทำใจให้เข้าเกียร์ว่างได้ไม่ต้องฉีดยาชาก็ได้ ทนได้ 
     
พระอรหันต์ พระพุทธเจ้า ท่านถึงไม่เดือดร้อน เวลาท่านเจ็บไข้ได้ป่วย เวลาที่ท่านตายเพราะใจของท่านเข้าเกียร์ว่างอยู่ตลอดเวลา ท่านรับรู้ความเจ็บของร่างกาย แต่ท่านไม่วิ่งหนี ท่านไม่กลัว  ความทุกข์เกิดจากความกลัว เกิดจากความวิ่งหนี แต่ถ้าอยู่เฉยๆแล้วจะไม่ทุกข์ ถ้าเข้าเกียร์ว่างแล้วจะไม่ทุกข์
อันนี้แหละ มันเป็นผลที่เราจะได้รับจากการปฏิบัติ  

ในสติปัฏฐาน ๔ ท่านจะสอนให้เรา ตอนต้นเจริญสติ ด้วยการดูร่างกาย ด้วยการดูการเคลื่อนไหวของร่างกาย อย่าปล่อยให้ใจไปคิดถึงอดีต ถึงอนาคตให้อยู่ในปัจจุบัน อยู่กับเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น ก็คือการเคลื่อนไหวต่างๆ ของร่างกาย ถ้าเราอยู่กับร่างกายได้ เวลานั่งเราก็จะอยู่กับลมได้ ใจก็จะไม่ไปคิดเรื่องราวต่างๆ  พอไม่คิดนั่งเดี๋ยวเดียวจิตก็รวมเข้าสู่ความสงบ เข้าเกียร์ว่างได้ พอค้นเกียร์ว่างเจอแล้ว ต่อไปก็สบาย เวลาเจอเหตุการณ์อะไรต่างๆ ก็ดึงใจให้อยู่ในเกียร์ว่าง ให้เฉยๆ ไม่ให้ตอบโต้ ไม่ให้มีปฏิกิริยากับสิ่งที่ใจมาพบเห็น ได้ยินเสียงที่ไม่ดีก็ให้เฉยไว้ ใครเขาด่าก็เฉยไว้ ใครเขาชมก็เฉยไว้ ถ้าเคยเข้าเกียร์ว่างเป็นมันจะเข้าได้ มันจะอยากให้ใจเฉยๆ ไม่ต้องไปยินดียินร้าย 

ยินดีก็เกิดความอยาก อยากให้เขาชมต่อไป ถ้าเขาไม่ชมก็เสียใจ ถ้ายินร้ายเขาด่าก็เสียใจ ยินร้ายก็ทุกข์อีก อยากจะให้เขาหยุดเขาไม่หยุดก็ทุกข์อีก แต่ถ้าอยู่เกียร์ว่าง เฉยๆ ก็ปล่อยเขา เขาอยากจะด่าก็ปล่อยให้เขาด่าไป เดี๋ยวเมื่อยเขาก็หยุดเอง อย่างเหมือนเสียงนี้ เสียงสัตว์มันร้องอยู่นี่ เราไม่ต้องไปสั่งให้มันหยุด เดี๋ยวร้องจนเหนื่อยมันก็หยุดของมันเอง เห็นไหมเสียงนี้ยังร้องอยู่เลย รู้มั้ยเสียงอะไร เอาลองเดาดูสิ ก๊อกก๊อก ก๊อกก๊อก เสียงกระรอก ตอนนี้มันกำลังจีบกันมั้ง (หัวเราะ)
    
นี่คือการฝึก ขั้นต้องมีสติตอนต้น เพื่อดึงใจให้เข้าเกียร์ว่างได้ ถ้าไม่มีสติจะเข้าเกียร์เดินหน้าถอยหลังอยู่นั่น เห็นอะไรชอบก็ใส่เกียร์เดินหน้า เห็นอะไรไม่ชอบก็เข้าเกียร์ถอยหลังเลย เวลาเข้าเกียร์มันก็จะเหนื่อยเพราะจิตต้องทำงานเข้าหาสิ่งที่ชอบก็เหนื่อย วิ่งหนีสิ่งที่ไม่ชอบก็เหนื่อยแต่ถ้าเข้าเกียร์ว่าง จะไม่เหนื่อย เฉยๆ ปล่อยให้ทุกอย่างมันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป ทุกสิ่งทุกอย่าง เราไปควบคุมบังคับมันไม่ได้ มันเป็นไตรลักษณ์ อนิจจัง ก็คือมันเป็น ไตรลักษณ์ เกิดๆ ดับๆ ขึ้นๆ ลงๆ อนัตตาก็คือ เราไปห้ามมันไม่ได้สั่งมันไม่ได้ อย่างตอนนี้ (เสียงสัตว์ร้อง) เราไปหยุดมันไม่ได้ห้ามมันไม่ได้ สมมุติว่ามันกำลังด่าเรานี้ เราก็จะห้ามมันไม่ได้ ถ้าเราเข้าใจภาษาว่ามันด่าเรานี้ เราจะทำยังไง นี่มันด่าเราอยู่นี่ แต่พอดีเราไม่เข้าใจความหมาย เราก็เลยฟังได้ ถ้าเกิดเป็นเสียงด่าเราเราจะทนได้ไหม มันก็เสียงอันเดียวกันนี่ เพียงแต่ตอนนี้เราไม่เข้าใจความหมายของเสียงที่เขาพูดเท่านั้นเอง เสียงด่าก็แบบนี้ใช่ไหม เสียงด่ากับเสียงชมมันก็เสียงอันเดียวกันใช่ไหม ทำไมมันทำให้เราดิ้นได้ล่ะ เสียงชมก็ทำให้เราวิ่งเข้าหา เสียงด่าก็ทำให้เราวิ่งหนี เพราะใจเราไม่มีเกียร์ว่าง ถ้าเรามีสติเราก็จะดึงใจให้อยู่ในเกียร์ว่างได้
    
ฉะนั้น การเจริญสติ จึงเป็นงานขั้นต้นเป็นงานอันดับแรกของผู้ปฏิบัติ เพราะถ้าไม่มีสติจะไม่สามารถดึงใจให้อยู่ในเกียร์ว่างได้ อยู่ในสมาธิ อยู่ในอุเบกขาได้ จึงต้องฝึกสติตั้งแต่ลืมตาขึ้นมาเลย เพราะเราสามารถฝึกได้ตลอดเวลา ไม่ต้องไปอยู่วัด ไม่ต้องไปอยู่ที่ไหน สติอยู่ที่ใจ อยู่ที่ร่างกายนี้ ให้สติให้ใจอยู่กับร่างกาย ร่างกายทำอะไร ใจก็ทำกับร่างกาย อย่าไปทำอย่างอื่น เราชอบทำสองสามอย่างพร้อมกัน บางทีเรากินข้าว เราก็ยังนึกถึงงานที่เราจะไปทำต่อ อันนี้แสดงว่าใจไม่ได้อยู่กับร่างกาย ไม่มีสติแล้ว ไม่อยู่ในปัจจุบัน ไปอนาคตแล้ว และคิดถึงอดีตที่ผ่านมา ตัดมันไปเถอะ อดีตมันไม่มี อนาคตมันไม่มี เราส่งใจไปหามันเอง เราคิดขึ้นมาเอง พอเราหยุดคิดเราก็จะรู้ว่า ไม่มีอดีตไม่มีอนาคต มีแต่ปัจจุบัน ความจริงมีอยู่แค่ปัจจุบันนี้ 

ฉะนั้น ถ้าเรามีสติแล้ว ใจเราจะนิ่ง ใจเราจะอยู่ในเกียร์ว่างได้ และเกียร์ว่างนี่แหละ  ให้ความสุขกับใจอย่างยิ่ง.

สนทนาธรรมะบนเขา
วันที่ ๑๙ มกกราคม ๒๕๖๐

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

คำสอนหลวงตา

" หลวงตา...หนูจะถามอย่างโน้น...อย่างนี้ "  ไปละเหตุเดิม  มีเสื้อเกราะแก้วอยู่แล้ว  เกราะเพชรอยู่แล้ว  " โอ้โห...อุ่นจังๆ "  อยู่ในเกราะนี้แล้ว  มันไม่อยากถาม  มันเข้าถึงผลแล้ว  ผลของฌาณ  ไม่มีใครเขาบ้าถามหรอก  นอกจากจะสัมผัสเกราะ  ดูคนอื่น  อ๋อ..เขาขัดอย่างนี้  ก็ขัดบ้าง  ไม่มีใครเขาถามไม่มีใครเขาพูด  ถ้าพูดก็หมายความว่า  ถอดฌาณ  ถอดเกราะออก  แล้วอยากจะอวดหรือไม่อยากจะอวดก็สงสัย  มันก็เป็นก่อนถึงอุปจารสมาธิฯ  ใช่ไหมเล่า?  เออ! ตัวนิวรณ์อยู่แล้วนี่  ก็ถอดเกราะแก้วออก  ก็มีแต่ของอากาศแท้ๆ ฝุ่นแท้ๆ เอามาถาม

🌸🌱🌸🌱🌸🌱🌸🌱🌸🌱🌸🌱🌸🌱🌸🌱🌸

นั่นแหละลูก  ไม่ได้ว่ากันแต่จะบอกให้ฟังว่า  ผลของการปฏิบัติถ้าจะถามกันจริงแล้ว  ฌาณสมาบัตินี่ไม่ทรงตัวลูกก่อนจะตายเราได้ฌาณ ๔  อภิญญา ๕  แล้วก็ได้สมาบัติ  เข้าไปในฌาณสมาบัติตายในฌาณ  เก่งเนาะ  เป็นพรหม ๘๐๐ ล้านปีแสง...เอ้า  พอหมดอายุก็ลงมาอีก  ไม่ใช่พระโสดาบัน  ตัวนั้นวัดไม่ได้...วัดไม่ได้  พอเราเลิกทำเหตุ...  ผลก็เลิกทำ

🌸🌱🌸🌱🌸🌱🌸🌱🌸🌱🌸🌱🌸🌱🌸🌱🌸

เหมือนกับที่หลวงตาบอก  ที่ยกตัวอย่างไง ( วันหลังหาร่มมาให้คันหนึ่ง)  เนี่ย ! ร้อนๆอยู่  แล้วก็กางร่มแจ๊ะขึ้นไป  โอ๊...เย็นจังเลยๆ  ถ้าอยากเย็นก็ทรงการกางร่มเข้าไว้  ถือเหตุคือถือด้ามร่มไว้  ถ้าไปหุบร่ม  โอ๊ย...ทำไมร้อนหลวงตา?  ก็มึงเสือกหุบร่ม  เลิกเจริญเหตุ...ผลก็หายไป...แล้วจะมาถามว่า  " เอ๊ะ!...หายไปยังไง?  ทำไมไม่กลับมาอีก? "  ก็มึงไปหุบร่ม  ก็บอกให้กลับไปกางร่มใหม่  " ไม่เอาอยากจะลองอย่างอาจารย์โน้นอาจารย์นี้บ้าง "  ก็ไปลองกับเขาสิ  มึงมาถามกูทำไม...?

🌸🌱🌸🌱🌸🌱🌸🌱🌸🌱🌸🌱🌸🌱🌸🌱🌸

แต่ไม่ได้กีดกันนะ  แต่จะเล่าให้ฟังว่า  ถ้าใครประกอบเหตุอะไรเยือกเย็นเป็นสุข  ให้จำเหตุนั้นไว้แล้วเจริญธรรมนั้นเจริญเหตุนั้น  จนกว่าจะตาย  หรือจนกว่าจะเจอเหตุใหม่ซึ่งประณีตกว่า...บริสุทธิ์กว่า...ถ้ายังไม่เจอเหตุที่ประณีตกว่าบริสุทธิ์กว่าให้ทำจนตาย  ก่อนตายใน ๗ วัน  จะต้องได้รู้ผลมันอิ่มแล้วจึงเปลี่ยนอารมณ์  ตอนนั้นจะมีท่านมาบอก...  มีอารมณ์ธรรมะในใจมาบอก...ควรจะเป็นยังไง  ถ้าบอกแล้วยังไม่แน่ใจ  เสียดายอารมณ์นี่  ก็อยากได้อารมณ์นั่น  เหมือนกับนั่งอยู่ตรงนี้กางร่มอันนี้อยู่  ลองนั่งอยู่  ลองเอาหัวไปอยู่ใต้ร่มไม้  เอ้า...เย็นดี  นี่ก็เย็นดี...  ยังลังเลอย่างนี้  ไม่รู้จะเอาเหตุอะไร  ตอนนี้จะมีครูบาอาจารย์มาบอกในกรรมฐาน  ถ้าเราลังเลว่าบอก  อันนี้กลัวจะพลาด  กลัวจะคิดเอาเอง  จะมีเหตุให้ไปเจอครูบาอาจารย์หรือมีคนมาคุยด้วย  ยืนยันเห็นด้วย  ไม่ต้องถาม  ถ้าถามอาจจะจัญไร  พอถามเขาก็เอาตำราตอบ  มันก็ตรงใจอยู่แล้ว  มันต้องพูดโดยไม่ต้องถาม  เป็นการยันกัน  ใช่มั๊ย?  นอกจากเขาไม่อยากจะพูด  เขาก็ถาม " เอ้า! ...มีอะไรมั๊ยๆ? "

🌸🌱🌸🌱🌸🌱🌸🌱🌸🌱🌸🌱🌸🌱🌸🌱🌸

เอาเฉพาะสิ่งที่เราทำแล้วมันชนไม่รู้จะเลี้ยวซ้าย  เลี้ยวขวานะ  ไม่ใช่ไปเอา  " หลวงตา...หฯุอ่านหนังสือมา  เนี่ยๆ...หลวงแม่  หลวงป้า  หลวงพ่อองค์นั้นท่านทำอย่างนี้...เนี้ย! ท่านทำตั้ง ๑๘ พรรษา ๑๘ ชั่งโมงนะ  แล้วก็ทำอย่างโน้น...อย่างนี้  ท่านก็คิดถึงพ่อแม่ท่าน  ท่านอยากตาย  ท่านก็ตายไม่ได้ "  เล่าอยู่ ๔๕ นาที   ถาม...แล้วโยมจะเอาอะไร? " หนูจะถามว่า  มันเป็นยังไง? " กูจะไปรู้เรอะมึงบ้าพล่ามมาตั้ง ๔๕ นาที  แล้ว  มึงมาถามสรุปยอดมันจะเป็นยังไง?  มึงก็บ้านะซิ  มึงก็ฟุ้งนะซิ  ถ้าจะตอบไม่เกรงใจมันต้องเป็นอย่างนั้น

🌸🌱🌸🌱🌸🌱🌸🌱🌸🌱🌸🌱🌸🌱🌸🌱🌸

ถ้าหากเขาถามว่ามีอะไรมั๊ย?  ก็ต้องเอาอารมณ์ที่ตัวเองทำดีมาแล้ว  มันชนเพดานเนาะไม่รู้เอาซ้ายหรือขวาดี  มันเห็นช่องอยู่ ๒ ช่อง ก็ไม่กล้าพลาด  แล้วเขาจะไม่ลดเหตุลงมา  เขาจะทรงเหตุนั้นไว้  จะดู " จะเอาซ้ายหรือเอาขวาดี "  นั่นน่ะต้องการครูแล้ว  ถ้าละเหตุแล้วมาบอก " หายไปหมดแล้ว " มึงไปหาเอาเอง ( หัวเราะ)

🌸🌱🌸🌱🌸🌱🌸🌱🌸🌱🌸🌱🌸🌱🌸🌱🌸

เออ..ถ้าถามต้องเอาสิ่งที่ตัวเข้าถึง  แล้วแต่จะเข้าถึงฝั่งไม่รู้เลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวานะ  กลัวจะเสียผล  กลัวจะลืมเหตุ  เนี่ย...เขาจะตอบได้  ถ้าไปเอาสมมติมา  เขาตอบไม่ได้หรอก...  ตอบไม่ได้...  ของปีที่แล้วก็ตอบไม่ได้  ธรรมะมันเหมือนอย่างนี้โยม...สมมติใจพระ...  ใจหลวงตานี่...ทีแรกกระดำกระด่างอย่างนี้นะ  หนูน้อยนะพอขัดไปๆ  มันก็ใสเนาะ  พอใสเขาก็ดูความใสตัวเอง  เขาไม่ได้ดูคนอื่นหรอก  " ใสจริงน้อ...สักกายทิฐิก็ไม่มี  วิจิกิจฉาก็น้อยไป  สีลพตปรามาสก็น้อยไป  กามราคะ...อุ๊ย! ยังมีๆ โกธรยังมีๆ" เขาจะดูใจเขาในความผ่องใสอันนี้

🌸🌱🌸🌱🌸🌱🌸🌱🌸🌱🌸🌱🌸🌱🌸🌱🌸

คำสอนของพระครูภาวนาพิลาส  วัดเขาวง(ถ้ำนารายณ์)
ที่มาจากหนังสือเสียงจากถ้ำ  
ฉบับที่  ๒๕      หน้า ๒๔ - ๒๗