ทักษิโณมิค

คอลัมน์ คนเดินตรอก
โดย วีรพงษ์ รามางกูร ประชาชาติธุรกิจ หน้า 2 วันที่ 15 ธันวาคม 2546 ปีที่ 27 ฉบับที่ 3540 (2740)

ปี 2546 นี้ เป็นปีที่เศรษฐกิจของเราได้ฟื้นตัวอย่างเห็นได้ชัดเจน เพราะอัตราการขยายตัวของรายได้ประชาชาติ คงจะตกอยู่ระหว่างร้อยละ 6.5 ถึงร้อยละ 7 ดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลประมาณ 5-6 พันล้านเหรียญสหรัฐ อัตราเงินเฟ้อต่ำกว่าร้อยละ 2 ค่าเงินบาทแข็งขึ้นประมาณร้อยละ 10 ทั้งที่ทางการพยายามดึงไว้ไม่ให้แข็งอย่างเต็มที่แล้ว ทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 41 พันล้านเหรียญสหรัฐ หลังจากธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ชำระหนี้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ จำนวน 15,000 ล้านเหรียญสหรัฐหมดก่อนกำหนด

การคาดการณ์ว่าปีหน้าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ จะขยายตัวในอัตราที่สูงกว่าปีนี้ ด้วยปัจจัยบวกที่ต่อเนื่องจากปีนี้ และปัจจัยบวกอย่างอื่นอีก เป็นไปได้ที่อัตราการขยายตัวของรายได้ประชาชาติอาจจะถึงร้อยละ 8 จึงเป็นเรื่องที่น่าจะวิเคราะห์และจดเอาไว้เป็นหลักฐานว่า เหตุใดเศรษฐกิจจึงฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว และคงจะต่อเนื่องเป็นเศรษฐกิจขาขึ้นไปอีกหลายปี

นโยบายของรัฐบาลทักษิณ แตกต่างกับนโยบายของรัฐบาลก่อนหน้านั้นอย่างไร จนกลายเป็น "ทักษิโณมิค" ที่สื่อมวลชนไทยและเทศตั้งให้

ประการแรก การกระตุ้นเศรษฐกิจ นโยบายของทักษิณแจ้งชัดกว่า นโยบายของรัฐบาลที่แล้ว กล่าวคือ รัฐบาลนี้ประกาศว่าจะเป็นนโยบาย "รางคู่" และมีมาตรการที่ชัดเจนตั้งแต่ตอนหาเสียงเพื่อให้ได้รับการเลือกตั้ง กล่าวคือ จะกระตุ้นเศรษฐกิจภายใน โดยกระจายทรัพยากรทางการเงิน ไปสู่ประชาชนระดับ "รากหญ้า" คงจะแปลมาจากภาษาอังกฤษ "grass root" ผ่านทางโครงการต่างๆ ขณะเดียวกันจะผลักดันเรื่องการส่งออก และการท่องเที่ยวเพื่อนำเงินเข้ามาในประเทศ การกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศนั้น ต่างกับตำราเศรษฐศาสตร์ของเคนส์ ซึ่งรัฐบาลที่แล้วนำเอามาใช้ โดยใช้นโยบายการคลัง และเป็นการแนะนำของไอเอ็มเอฟ กล่าวคือ ใช้จ่ายจากการตั้งงบประมาณขาดดุล เพื่อทำโครงการต่างๆ หรือไม่ก็ยืมเงินจากต่างประเทศ หรือองค์กรระหว่างประเทศ เช่น ยืมจากกองทุนมิยาซาวา หรือจากธนาคารโลกเพื่อการปรับโครงสร้าง (stractural adjustment loan) โดยวิธีการตั้งงบประมาณ ให้หน่วยงานจัดซื้อของ หรือโครงการก่อสร้างในชนบท

การกระตุ้นเศรษฐกิจโดยวิธีการเช่นนี้ เป็นวิธีการเก่าตามตำราแบบนี้ มีข้อจำกัด และข้อเสียหลายอย่าง เป็นต้นว่า การตั้งงบประมาณล่าช้า การเขียนโครงการไม่เหมาะสม ในกรณีที่จัดสรรเงินงบประมาณให้หน่วยงานจัดซื้อ หน่วยราชการก็รีบจัดซื้อ และซื้อของที่ไม่จำเป็น ส่วนโครงการก่อสร้างส่วนมาก ก็ไม่ถึงประชาชนเป้าหมาย ตกหล่นเบี้ยบ้ายรายทางเสียเป็นส่วนมาก การกระตุ้นเศรษฐกิจจึงไม่ได้ผล แล้วก็กลายเป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ เช่น กรณีการใช้เงิน 55,000 ล้านบาท จากการกู้ยืมจากกองทุนมิยาซาวา รวมทั้งการใช้จ่าย จากการขาดดุลงบประมาณแผ่นดิน ก็ไม่เกิดผล จ่ายออกไปแล้วหายไปเลย กลายเป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ

รัฐบาลนี้กระตุ้นการใช้จ่ายของครัวเรือน โดยใช้นโยบายการเงิน เป็นต้นว่า โครงการพักการชำระหนี้ของเกษตรกร โดยธนาคารเพื่อการเกษตร และสหกรณ์การเกษตร โครงการธนาคารประชาชนโดยธนาคารออมสิน โครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ โครงการกองทุนหมู่บ้าน โครงการบ้านเอื้ออาทร ฯลฯ
โครงการเหล่านี้รัฐบาลไม่ได้ตั้งงบประมาณชดเชย แต่ใช้สถาบันการเงินของรัฐบาลปล่อย หรือยืดเวลาการชำระหนี้ ให้ในกรณีของ ธ.ก.ส.และ ให้สินเชื่อแก่กองทุนต่างๆ เพื่อดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งเป็นวิธีใหม่ที่ไม่มีในตำรา ถ้าหากจะเสียหาย ก็ค่อยตั้งงบประมาณชดเชยในภายหลัง

วิธีการดังกล่าวได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากว่า ทำให้ชาวบ้านเสียนิสัย เป็นการเอารายได้ในอนาคตมาใช้ เป็นการสร้างหนี้ให้ครัวเรือนโดยเปล่าประโยชน์ เพราะชาวบ้านไม่ได้เอาไปลงทุน แต่เอาไปซื้อจักรยานยนต์ ซื้อรถปิกอัพ ซื้อโทรศัพท์มือถือ หรือเอาไปต่อเติมบ้าน ฯลฯ กลายเป็นนโยบาย "ประชานิยม" หรือ "populist policy" ผมเองเมื่อ 3 ปีที่แล้วก็มีความรู้สึกเช่นนั้น แต่เมื่อมาพิจารณาอย่างถ่องแท้ ตอนนี้กลับเห็นด้วย เพราะการกระตุ้นโดยวิธีนี้ ดีกว่าวิธีเดิมๆ หลายอย่าง ที่สำคัญคือ เงินถึงครัวเรือนถึงประชาชนโดยตรง ไม่ตกหล่นเสียหายกลางทาง ประการที่สอง เป็นภาระกับงบประมาณ น้อยกว่าวิธีแรก ถ้ารัฐบาลจะต้องตั้งงบประมาณชดเชย ก็คงชดเชยเฉพาะส่วนที่เสียหายเท่านั้น ซึ่งคิดแล้วน้อยกว่าการจ่ายทำโครงการก่อสร้าง ที่ไม่สู้เป็นประโยชน์ และตกหล่นระหว่างทางเสียมาก

หนี้สินของครัวเรือนที่นักวิชาการว่าสูงขึ้น จะเป็นปัญหาอย่างมาก แต่ไม่ได้บอกว่าเป็นปัญหาอย่างไร ความเห็นของผมก็คือ ก่อนที่จะมีเงินให้กู้ยืม ปัญหาเป็นของชาวบ้านที่อยากจะได้กู้ แต่เมื่อได้กู้แล้ว ปัญหาเป็นของผู้ให้กู้ ซึ่งก็คือสถาบันการเงินของรัฐ ซึ่งอาจจะเป็นภาระกับผู้เสียภาษี ถ้าเศรษฐกิจไม่ฟื้นตัว รายได้ของรัฐบาลไม่เข้าเป้า ก็จะเป็นภาระต่องบประมาณแผ่นดินอย่างยิ่ง ที่จะต้องตั้งงบประมาณชดเชย แต่ถ้าเศรษฐกิจฟื้นตัวรัฐบาลเกินดุลเงินสด อย่างในปีงบประมาณ 2526 ปัญหาก็หมดไป และเข้าใจว่าหนี้ที่เสียหายมีไม่มาก ปัญหาระดับมหภาคจึงไม่น่าจะมี หรือมีก็อยู่ในขีดที่จะจัดการได้ โดยไม่เสียหายในด้านวินัยการคลัง แต่ข้อดีมีมากกว่าคือ ได้ผลตามเป้าหมาย คือสามารถกระตุ้นการจับจ่าย ของครัวเรือนได้จริงจัง ซึ่งข้อนี้เป็นจุดเด่นของ "ทักษิโณมิค" แต่ข้างหน้าไม่ควรจะใช้อีก เพราะเป็นการเอาสถาบันการเงินของรัฐเข้าเสี่ยง หรือไม่ก็อาจจะเสียวินัยทางการคลัง ประกอบกับสถานการณ์ในขณะนั้นจนถึงเดี๋ยวนี้ ระบบการเงินยังล้นระบบ สภาพคล่องมีมาก ดุลการค้า และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล อัตราเงินเฟ้อต่ำมาก และที่สำคัญดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำมาก เงื่อนไขอย่างนี้ ในอนาคตคงไม่มี เป็นสถานการณ์ที่เฉพาะจริงๆ มีคนถามว่าควรจะแก้ตำราไหม ? ผมตอบว่าไม่ควร เพราะถ้าจะแก้ก็ต้องใส่เงื่อนไขต่างๆ เหล่านี้ลงไปด้วยเงื่อนไขที่ว่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยๆ ข้างหน้าคงจะไม่มี

หลังจากเศรษฐกิจกระเตื้องขึ้นจากการจับจ่ายของครัวเรือน และเชื่อกันว่า ผลจากการกระจายทรัพยากรทางการเงิน ที่มีเหลือเฟือลงไปในระดับ "รากหญ้า" ก็พอดีกับการส่งออกไปประเทศจีน ญี่ปุ่น อาเซียน และภูมิภาคเอเชียขยายตัวอย่างรวดเร็ว รวมทั้งอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ขยายตัวอย่างมาก อันเกิดจากปัญหาการเมือง และปัญหาการก่อการร้ายในบาหลี อินโดนีเซีย และประเทศจีนที่ผ่อนคลาย ให้ประชาชนเดินทางออกนอกประเทศมากขึ้น เพราะเศรษฐกิจจีนดีมาก การเร่งขยายตลาดการส่งออก และการท่องเที่ยว โดยการทำสนธิสัญญาเขตเศรษฐกิจเสรีกับจีน อินเดีย และเริ่มเจรจากับอเมริกาและญี่ปุ่น ก็น่าจะเป็นตัวกระตุ้นการส่งออก ซึ่งเรื่องนี้เป็นรางอันที่สอง สำหรับนโยบาย "รางคู่" ของ "ทักษิโณมิค"

นโยบายสำคัญอันที่สองรองจากนโยบาย "รางคู่" แล้วก็คือนโยบาย "ทุนสำรองระหว่างประเทศ" กับ "นโยบายอัตราแลกเปลี่ยน" ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งต่างจากนโยบายของรัฐบาลก่อนหน้านี้อย่างสิ้นเชิง

รัฐบาลที่แล้วเห็นว่า เมื่อเราใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัวแล้ว ก็ควรให้อัตราแลกเปลี่ยนขึ้นลงเสรีตาม "กลไกตลาด" ผลก็คือเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐขึ้นลงปีละ 2 รอบ โดยประมาณต้นปีเงินบาท 44 บาท ผู้นำเข้าตาย ปลายปีเงินบาทมาอยู่ที่ 37 บาท ผู้ส่งออกตาย ตกลงสรุปว่าทั้งปีผู้ส่งออก และผู้นำเข้าตายหมด ไม่มีใครทำมาค้าขายได้ ดอกเบี้ยในประเทศไทยต่ำกว่าดอกเบี้ยต่างประเทศ เมื่อเงินบาทแข็ง ผู้คนก็เอาเงินออกไปไว้สิงคโปร์บ้าง ฮ่องกงบ้าง พอเงินบาทอ่อนก็เอาเข้ามา เอากำไรทุกปี โดยทางการไม่เคยรู้เรื่อง เป็นอย่างนี้อยู่ 3 ปี ตลอดเวลาที่รัฐบาลที่แล้ว บริหารประเทศ

พอเปลี่ยนรัฐบาล รัฐบาลก็เปลี่ยนตัวผู้ว่าการ ธปท.ใหม่ ผู้ว่าการคนใหม่ ก็จัดดอกเบี้ยให้ถูกต้อง พร้อมกับจัดการอัตราแลกเปลี่ยนให้คงที่ให้มากที่สุด แม้ว่าจะแข็งขึ้นก็ค่อยๆ แข็งขึ้น แต่ก็ไม่ให้ค่าเงินแข็งเกินไป และเร็วเกินไป ผู้คนจึงทำมาค้าขายได้ และปัจจัยสำคัญอันหนึ่งของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ หรือเป็นสาระสำคัญอันที่สองของ "ทักษิโณมิค"

รัฐบาลที่แล้วมีความเห็นว่า เมื่อมาใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัว ทางการปล่อยให้อัตราแลกเปลี่ยนขึ้นลงตาม "กลไกตลาด" ไม่ต้องเข้าไปจัดการทำอะไร ดังนั้น ทุนสำรองระหว่างประเทศก็มีความสำคัญน้อยลง จึงควรเอาเงินสำรอง ส่วนที่เกินความจำเป็น ในการเป็นทุนสำรองเงินตรา ในการออกธนบัตร เอาออกไปใช้หนี้ไอเอ็มเอฟเสีย โดยการรวมบัญชีทุนสำรองเงิน ตราของฝ่ายออกบัตร กับเงินทุนสำรองในบัญชีทุนสำรองของฝ่ายกิจการธนาคาร จนได้รับการคัดค้านจากผู้คน รวมทั้งพระเถระชั้นผู้ใหญ่ที่เป็นที่เคารพนับถือของคนทั่วไป

รัฐบาลนี้เปลี่ยนนโยบาย โดยเน้นในการรักษา และเพิ่มทุนสำรองระหว่างประเทศ ธปท. หาเงินตราต่างประเทศ เอาไปชำระหนี้กองทุนการเงินระหว่างประเทศได้ก่อนกำหนดถึงสองปี ยกเลิกความคิดที่จะรวมบัญชี การที่เรามีทุนสำรองที่เข้มแข็ง ทำให้เครดิตของประเทศสูงขึ้น และเป็นปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้เอสแอนด์พี ทริสต์ และมูดี้ส์ซึ่งเป็นสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ เพิ่มลำดับให้ประเทศไทย และให้น้ำหนักกับเรื่องทุนสำรองอย่างมาก

นโยบายที่สำคัญอีก 2-3 อย่าง ก็คือเร่งรัดเขตการค้าเสรีอาเซียน ซึ่งเป็นแม่เหล็กสำคัญ ที่ทำให้การลงทุนจากต่างประเทศ มาลงทุนในอุตสาหกรรมรถยนต์ เครื่องไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ โดยผู้ลงทุนหวังจะใช้ตลาดอาเซียนเป็นสำคัญ โดยใช้ประเทศไทยเป็นฐาน พร้อมกันนั้น รัฐบาลก็ต้องเร่งลงทุน ในระบบการอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐาน หรือ "infrastructure" เช่น ไฟฟ้า ขนส่งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ ทางด่วน ท่าเรือ ฯลฯ ซึ่งจะเป็นปัจจัยให้เศรษฐกิจขยายตัวต่อเนื่องต่อไป

ที่ถูกใจมากก็คือ มีความกล้าหาญประกาศว่า ประเทศไทยจะไม่รับความช่วยเหลือจากต่างประเทศอีกต่อไป ซึ่งคงไม่มีรัฐบาลไหนกล้าประกาศ นอกจากจะสร้างความเชื่อมั่น เกียรติภูมิของประเทศแล้ว ยังเป็นการเปลี่ยนทัศนคติของหน่วยงานราชการของเราอีกด้วย เพราะความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ เช่น งานก่อสร้าง ผลประโยชน์ส่วนใหญ่ก็กลับไปสู่ประเทศที่ให้ความช่วยเหลืออยู่ดี นอกนั้นแล้วประเทศที่ให้มักจะทวงบุญคุณ หรือใช้เป็นเงื่อนไขข่มขู่เราอยู่เสมอ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น