พระประจำวันพุธ (กลางคืน)ได้แก่ ปางป่าเลไลยก์ (ผู้ที่เกิดระหว่างเวลา 18.00 น. ของวันพุธถึง 06.00 น.ของวันพฤหัสบดี หรือบางคนก็นับตั้งแต่ 18.00 – 24.00 น.ของวันพุธ (สุดแต่ความเชื่อ))


ลักษณะพระพุทธรูป: พระพุทธรูปอยู่ในพระอริยาบถประทับ (นั่ง) บนก้อนศิลา พระบาททั้งสองวางบนดอกบัว พระหัตถ์ซ้ายวางคว่ำบนพระขนุ (เข่า) พระหัตถ์ขวาวางหงาย นิยมสร้างช้างหมอบใช้งวงจับกระบอกน้ำ อีกด้านหนึ่งมีลิงถือรวงผึ้งถวาย


ความเป็นมา


สำหรับปางนี้กล่าวถึงเมื่อพระพุทธองค์ประทับอยู่ที่เมืองโกสัมพี ครั้นนั้นพระภิกษุมีมากรูปด้วยกัน และไม่สามัคคีปรองดอง ไม่อยู่ในพุทธโอวาท ประพฤติตามใจตัว พระองค์จึงเสด็จจาริกไปอยู่ตามลำพังพระองค์เดียวในป่าที่ชื่อว่าปาลิไลยกะ โดยมีมีพญาช้างเชือกหนึ่งชื่อ "ปาลิไลยกะ" เช่นเดียวกัน มีความเลื่อมใสในพระพุทธองค์ มาคอยปฏิบัติบำรุงและคอยพิทักษ์รักษามิให้สัตว์ร้ายมากล้ำกราย ทำให้พระพุทธองค์เสด็จประทับอยู่ในป่านั้นด้วยความสงบสุข และป่านั้นต่อมาก็ได้ชื่อว่า "รักขิตวัน" ครั้นพญาลิงเห็นพญาช้างทำงานปรนนิบัติพระพุทธเจ้าด้วยความเคารพ ก็เกิดกุศลจิตทำตามอย่างบ้าง ต่อมาชาวบ้านไปเฝ้าพระพุทธเจ้าแต่ไม่พบ และทราบเหตุ ก็พากันตำหนิติเตียน และไม่ทำบุญกับพระเหล่านั้น พระภิกษุเหล่านี้จึงได้สำนึก ขอให้พระอานนท์ไปทูลเชิญเสด็จพระพุทธองค์กลับมา ช้างปาลิไลยกะก็มาส่งเสด็จด้วยความเศร้าเสียใจ จนหัวใจวายล้มตายไป ด้วยกุศลผลบุญจึงได้ไปเกิดเป็น "ปาลิไลยกะเทพบุตร"


จากเหตุการณ์นี้ ถือว่าเป็นเหตุการณ์อันน่าสลดใจเป็นอย่างยิ่ง ถึงพฤติกรรมของพระ 2 ฝ่ายในขณะนั้น ไม่เชื่อฟังแม้กระทั้งพระพุทธเจ้า พุทธศาสนิกชนจึงได้สร้างพระปางนี้ขึ้น เพื่อเป็นอนุสรณ์เตือนใจถึงการแตกสามัคคี การทะเลาะวิวาทกัน


บทสวดมนต์บูชาพระประจำวันพุธ (กลางคืน)


กินนุ สันตะระมาโนวะ ราหุ จันทัง ปะมุญจะสิ สังวิคคะรูโป อาคัมมะ กินนุ ภีโต ติฏฐะสีติ สัตตะธา เม ผะเล มุทธา ชีวันโต นะ สุขัง ละเภ พุทธาคาถาภิคิโตมหิ โนเจ มุญเจยะ จันทิมันติ


ดูก่อนราหู เพราะเหตุใดหนอ ท่านจึงเร่งรีบปล่อยพระอาทิตย์ไปเสียเล่า และทำไมหนอ ท่านจึงดูเศร้าสลด มายืนซึมอยู่ตรงนี้เล่า ข้าพเจ้าถูกขับด้วยคาถาของพระพุทธเจ้า ดังนั้น หากข้าพเจ้าไม่ปล่อยสุริยเทพบุตร ศีรษะของข้าพเจ้าพึงแตกเจ็ดเสี่ยง ถึงมีชีวิตอยู่ต่อไป ก็จะไม่ได้รับความสุขเลย


สวดวันละ 12 จบ จะมีความเจริญสุขสวัสดี ผู้ที่เกิดวันราหู หรือวันพุธกลางคืน ควรใช้ของประดับตัวและบ้านเรือนเป็นสีเมฆหมอก สีเทา หรือสีดำหลัว ส่วนสีรองๆ ลงมา คือ สีแดง สีขาวนวล สีกรมท่า สีน้ำเงินแก่ พึงเว้นสีเหลือง


เลือกของใส่บาตรวันพุธ (กลางคืน)


อาหารคาว : ของหมักดอง ผักกาดดองผัดไข่ อาหารกระป๋อง แกงใบยอ หมูยอ แหนม ไข่เยี่ยวม้า ห่อหมก

อาหารหวาน : ข้าวหมาก ขนมเปียกปูนดำ เฉาก๊วย ข้าวเหนียวดำ เม็ดมะม่วงหิมพานต์ ผลไม้หัวโตๆ ทุเรียน

ของถวายพระ : พัดลม เทปธรรมะ ยาแก้โรคลม ยาหอม

ทำทาน : มูลนิธิหรือหน่วยงานที่เกี่ยวกับยาเสพติด

พฤติกรรม : เลิกบุหรี่ เลิกดื่มหรือลดปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด เลิกการพนัน เลิกทำตัวเหลวไหล เลิกเที่ยวกลางคืน เลิกยาเสพติดทุกชนิด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น